“สัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ประจำปี 2567 : ปลุกพลังใจ ก้าวไปพร้อมกัน : Hopeful Hearts, Stronger Mind” เขตสุขภาพที่ 10 จัดโดย ศูนย์สุขภาพจิตที่ 10 ร่วมกับ โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ และ ภาคีเครือข่าย เขตสุขภาพที่ 10
7 พ.ย. 2567 269วันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 ศูนย์สุขภาพจิตที่ 10 นำโดย ดร.สุภาภรณ์ ศรีธัญรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 10 ร่วมกับ โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ นำโดย นายเกรียงศักดิ์ เชื่อมงาม รองผู้อำนวยการด้านบริหาร รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ พร้อมบุคลากร และ เครือข่ายสุขภาพจิต เขตสุขภาพที่ 10 จัดกิจกรรม “สัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ประจำปี 2567” ภายใต้แนวคิด “ปลุกพลังใจ ก้าวไปพร้อมกัน : Hopeful Hearts, Stronger Mind” โดยมี นายแพทย์ธีระพงษ์ แก้วภมร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ผู้แทนผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 10 เป็นประธานในพิธีเปิด โดยความร่วมมือ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดขึ้น ณ ลานกิจกรรมห้องสมุดในสวนเรืองแสง สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย
1. การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ “อึด ฮึด สู้ ปลุกพลังใจ ก้าวไปพร้อมกัน”
2. ปาฐกถา เรื่อง “ปลุกพลังใจนักศึกษา ก้าวไปพร้อมกัน” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปรีชา บุญจูง รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
3. นิทรรศการรณรงค์ให้ความรู้ด้านสุขภาพจิต บูธดูแลใจ “ตรวจเช็คสุขภาพใจ Mental Health Check In” และ “ตรวจวัดความเครียดและสุขภาพหลอดเลือด ด้วยเครื่อง Biofeedback”
4. บูธจัดกิจกรรมจากเครือข่าย หน่วยงานและกลุ่มต่าง ๆ ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี Wellness center โดย สำนักงานพัฒนานักศึกษาและกลุ่มเพื่อนดูแลใจ (UBU buddy) มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เครือข่ายนักสื่อสารสร้างสุข เขตสุขภาพที่ 10 (การ์ดฮีลใจ หนังสือสุข) และ กลุ่มก่อการดี โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์
5. การแสดงมินิคอนเสิร์ต โดย วงดนตรีนักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (วงเอาเถิด)
ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ได้แก่ คณะผู้บริหาร เครือข่ายหน่วยงานทั้งในระบบและนอกระบบสาธารณสุข ในเขตสุขภาพที่ 10 เครือข่ายสื่อมวลชน จังหวัดอุบลราชธานี อาจารย์ บุคลากร เจ้าหน้าที่ นักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร อุบลราชธานี เทศบาลตำบลเมืองศรีไค และประชาชนทั่วไป รวมทั้งสิ้น 300 คน และการรับชมผ่านระบบออนไลน์ Facebook Live เข้าถึงจำนวน 1,608 ผู้เข้าถึงรับชม
ตามมติคณะรัฐมนตรี โดยกำหนดให้ช่วงวันที่ 1-7 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น “สัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ” นับตั้งแต่ พ.ศ.2545 อย่างเป็นทางการเป็นต้นมา เพื่อกระตุ้นให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพจิตและลดการตีตราเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตในสังคมนั้น จึงมีการจัดงานสัปดาห์สุขภาพจิตที่สอดคล้องกับสถานการณ์ของประชาชนไทย ต่อเนื่องมาโดยตลอด
ด้วยปัจจุบันสังคมไทย เผชิญกับวิกฤตหลายประการที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของประชาชน เช่น วิกฤตภัยทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง พายุฝน น้ำท่วม วิกฤติความรุนแรงจากการใช้ยาเสพติด ที่ส่งผลต่อภาวะสุขภาพจิตและการก่อความรุนแรงในสังคม ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ หนี้สิน ความยากจน รวมถึงเหตุการณ์ที่สร้างความสูญเสียและสะเทือนใจทางสังคมที่ปรากฏตามหน้าสื่อในแต่ละวัน เป็นต้น ความตึงเครียดทางจิตใจที่เกิดขึ้นจากวิกฤตเหล่านี้ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง แต่ยังส่งผลต่อสังคมโดยรวม การใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่ไม่ถูกต้องในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤต
การให้ความรู้และทักษะในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างสร้างสรรค์ และการเพิ่มความสามารถในการเสริมสร้างพลังใจ (Resilience) จึงเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยให้ประชาชนสามารถฟื้นตัวจากวิกฤติและก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลําบากได้ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข จึงให้ความสำคัญของการเสริมสร้างพลังใจ (Resilience) เพราะการเสริมสร้างพลังใจ (Resilience) หรือ ความเข้มแข็งทางใจ เป็นความสามารถในการ ฟื้นตัว หรือ กลับสู่สภาพปกติหลังจากเผชิญกับความยากลําบากหรือความท้าทายในชีวิต ซึ่งประกอบด้วยหลายปัจจัย เช่น การปรับตัว การพัฒนาความมั่นใจในตนเอง และการมีเป้าหมายในการก้าวผ่านสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ โดยใช้กระบวนการ "อึด ฮึด สู้" เป็นแนวทางในการเผชิญหน้าและฝ่าฟันปัญหา
คําว่า "อึด ฮึด สู้" สามารถเชื่อมโยงกับความหมายของ Resilience ดังนี้
1. อึด เป็นความสามารถในการอดทนและเผชิญกับความยากลําบาก แม้ว่าจะเหนื่อยล้า ก็ยังคงยืนหยัดที่จะไม่ยอมแพ้ การทนทานต่อความทุกข์ยาก ซึ่งการที่จะสามารถสร้างพลังอึดให้เกิดขึ้น ต้องรู้จักแนวทางในการสํารวจตัวเอง เช่น สามารถหาความรู้เพื่อประเมิน ป้องกัน แก้ไข ปัญหาสุขภาพจิต เป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ มีคนช่วยเหลือ หรือ รู้แหล่งช่วยเหลือเมื่อเจ็บป่วยหรือไม่ เป็นต้น
2. ฮึด หมายถึง การรวมพลังฮึดสู้ในช่วงเวลาที่ยากลําบาก เป็นความมุ่งมั่นและพลังใจ ในการก้าวข้ามอุปสรรค เพื่อสามารถลุกขึ้นมาใหม่ได้หลังการล้มเหลว ซึ่งการที่จะสามารถสร้างพลังฮึดให้เกิดขึ้น ต้องรู้จักแนวทางในการสํารวจตัวเองว่าเรามีอะไรอยู่บ้าง เช่น มีประสบการณ์เกี่ยวกับการช่วยเหลือและดูแลฟื้นฟูผู้อื่น ได้รับความรู้ในการดูแลป้องกันตนเองทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ มีการเข้าถึงและให้ข้อมูลที่เชื่อถือได้ จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ที่น่าเชื่อถือ รวมถึงจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น
การสร้างพลังอึด และความเข้มแข็งทางใจเพื่อสู้กับปัญหา ทำได้โดยการตั้งสติและการยอมรับปัญหา ปรับมุมมองต่อความล้มเหลว ควรมองว่าเป็นโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนา ความล้มเหลวแต่ละครั้งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเติบโต ให้เรามีโอกาสเรียนรู้วิธีใหม่ ๆ แก้ปัญหาในอนาคต สร้างความยืดหยุ่นทางจิตใจ ฝึกให้ตัวเองไม่ยอมแพ้อะไรง่าย ๆ และมองเห็นความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
ตั้งเป้าหมายและให้กําลังใจตัวเอง พูดคุยกับตัวเองด้วยคําพูดที่ให้กําลังใจ หรือ จดบันทึกประโยค ที่ช่วยเสริมสร้างพลังใจ ไว้ในที่ที่เห็นได้บ่อย ๆ ใช้ความรักและความผูกพัน จากครอบครัว เพื่อน หรือ คนรัก ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งได้อย่างมีความสัมพันธ์ที่ดี ช่วยให้เรารู้ว่าไม่ได้ต่อสู้คนเดียว
3. สู้ การสู้ไม่ใช่แค่การอดทน แต่คือการลงมือทำ เพื่อเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ ในทางที่ดีขึ้น การมีความกล้าในการเผชิญหน้ากับปัญหา ลงมือทำเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ทำได้โดยมองความสามารถและความสนใจของตนเองมาปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหา ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ ติดตามข่าวสารที่เชื่อถือได้จากทางราชการ ไม่เสพข่าวมากจนเครียด ไม่สร้างหรือแชร์ข่าวปลอม
งานสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ 2567 มุ่งเน้นไปที่การสร้างความตระหนักในสังคมเกี่ยวกับ ความสำคัญของพลังใจในการจัดการสุขภาพจิตระหว่างเผชิญวิกฤติ ผ่านการเผยแพร่ความรู้และประสบการณ์ในการฟื้นฟูสุขภาพจิต ทั้งเป็นการเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจในเรื่องสุขภาพจิตแก่ประชาชน ส่งเสริมให้ประชาชน เข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ถูกต้องและมีการสื่อสารในเชิงบวก รวมถึงสร้างความร่วมมือในชุมชนและหน่วยงานต่าง ๆ ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ เพื่อให้สามารถเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ ได้อย่างมั่นคง
สำหรับเขตสุขภาพที่ 10 (จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และมุกดาหาร) ได้จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ทั้งในหน่วยบริการ สถานบริการสาธารณสุข โรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ตลอดจนภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง
เพิ่มเติม : https://drive.google.com/drive/folders/1-1wEebRhL8pZNzpHJo0pIJbY-ZSSjQkK