พัฒนาศักยภาพบุคลากรในการสอบสวนโรคและวิเคราะห์ข้อมูลการฆ่าตัวตาย เขตสุขภาพที่ 10 ปีงบประมาณ 2567

19 เม.ย. 2567 177

ศูนย์สุขภาพจิตที่ 10 ร่วมกับ โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ และ เครือข่ายสุขภาพจิต เขตสุขภาพที่ 10 เห็นความสำคัญถึงการป้องกัน เฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายในระดับพื้นที่เขตสุขภาพที่ 10 โดยอาศัยกลไกบุคลากรผู้รับผิดชอบงานสุขภาพจิตระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และความร่วมมือของภาคีเครือข่ายนอกระบบสาธารณสุข ช่วยในการขับเคลื่อนดำเนินงานเฝ้าระวังป้องกันฆ่าตัวตายในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้การสอบสวนกรณีฆ่าตัวตาย (Suicide Investigation) เป็นอีกแนวทางและกระบวนการหนึ่งในการค้นหา ปัจจัยสาเหตุและวิเคราะห์ข้อมูลทางระบาดวิทยา (Psychological Autopsy) นำไปสู่การกำหนดมาตรการ บ่งชี้กลุ่มเสี่ยง เฝ้าระวังป้องกันได้ตรงจุด เฉพาะพื้นที่ บุคลากรสาธารณสุข หรือ ทีมสอบสวนการฆ่าตัวตาย ที่ไปสอบถาม สัมภาษณ์ จะต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับพฤติกรรมฆ่าตัวตาย เกณฑ์บ่งชี้ยืนยัน การสรุปวินิจฉัย สอบถาม รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอุบัติการณ์การฆ่าตัวตาย ทักษะการสอบสวน การวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น ศูนย์สุขภาพจิตที่ 10 จึงได้จัด "โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการสอบสวนโรคและวิเคราะห์ข้อมูลการฆ่าตัวตาย เขตสุขภาพที่ 10 ปีงบประมาณ 2567" ขึ้น ในวันที่ 19 เมษายน 2567 ณ ห้องประชุมปทุมชาติ โรงแรมสุนีย์แกรนด์ แอนด์ คอนเว็นชั่นเซ็นเตอร์ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้บุคลากรผู้รับผิดชอบงานสุขภาพจิตในหน่วยงาน สถานบริการสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 10 ให้มีความรู้ในการสอบสวนกรณีฆ่าตัวตายและการวิเคราะห์ข้อมูลการฆ่าตัวตาย ตลอดจน มีทักษะในการสอบสวนโรคและสาเหตุในการฆ่าตัวตาย นำไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูลสาเหตุปัจจัย เพื่อการป้องกันและเฝ้าระวังที่สอดคล้องกับปัญหาและบริบทเฉพาะของแต่ละพื้นที่ต่อไป กลุ่มเป้าหมายได้แก่ บุคลากรผู้รับผิดชอบงานสุขภาพจิตในระดับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธาณณสุขอำเภอ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จำนวนทั้งสิ้น 85 คน รูปแบบการจัดประชุม รูปแแบ Onsite บรรยายให้ความรู้และฝึกทักษะ ได้แก่ 1.) สถานการณ์การฆ่าตัวตาย เขตสุขภาพที่ 10 ความสำคัญและบทบาทของทีมสอบสวนโรค ในการสอบสวนกรณีฆ่าตัวตาย (Suicide Investigation) 2.) องค์ความรู้พื้นฐานการฆ่าตัวตาย ข้อเสนอแนะมาตรการป้องกัน และแนวทางการพัฒนาระบบเฝ้าระวังป้องกันการฆ่าตัวตายระดับจังหวัด 3.) แนวทางการสอบสวนโรคกรณีฆ่าตัวตายหรือกระทำความรุนแรงต่อตนเองและการวิเคราะห์ปัจจัยการฆ่าตัวตาย 4.) “การเข้าถึงข้อมูลรายงานและการบันทึกข้อมูลในระบบเฝ้าระวังป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ (รง506S) ผลการดำเนินงาน ผู้เข้าร่วมโครงการนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตาย เกิดการสอบสวนและวิเคราะห์ข้อมูลระบาดวิทยาผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย (Psychological Autopsy) ที่จะนำไปสู่การกำหนดแผนมาตรการการดำเนินงานป้องกัน เฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายที่ตรงจุด สอดคล้องกับบริบทเฉพาะของพื้นที่ ลดและขจัดปัญหาการฆ่าตัวตายที่อาจจะเกิดขึ้น มากกว่าร้อยละ 80 ผู้เข้าโครงการฯ มีความรู้ในการสอบสวนกรณีฆ่าตัวตายและการวิเคราะห์ข้อมูลฆ่าตัวตาย เพิ่มขึ้น และ ร้อยละ 80 ของผู้เข้าโครงการฯ มีทักษะในการสอบสวนกรณีการฆ่าตัวตาย เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ร้อยละ 100 ของผู้เข้าโครงการฯ มีความพึงพอใจต่อการประชุมฯ ในระดับมากถึงมากที่สุด